เมื่อผู้สูงอายุดูแลสุขภาพกายของตนเองเป็นอย่างดีแล้ว ก็ต้องดูแลสุขภาพจิตของตนเองด้วย โดยทำจิตใจให้แจ่มใส เบิกบานอยู่เสมอ ไม่ให้ตนเองเกิดความเครียด หงุดหงิด ท้อแท้ น้อยใจหรือไม่สบายใจกับการมีชีวิตอยู่ ด้วยการหากิจกรรมที่ทำให้ตนเองรู้สึกเพลิดเพลิน ทำให้รู้สึกได้พักผ่อนหย่อนใจ มิฉะนั้นจะส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของตนเองรวมไปถึงความสัมพันธภาพกับบุตรหลานและคนอื่นๆ รอบตัวได้
หลายคนที่เข้าสู่วัยสูงอายุมักมองว่าตนเองไม่มีความสำคัญ ไร้ความสามารถ หรืออาจจะมีความรู้สึกว่าตนเอง
ไม่แข็งแรงเท่าเมื่อก่อน ในบางคนมีความคิดที่ว่าตนเองเป็นภาระแก่บุตรหลาน ส่งผลให้ความพึงพอใจในชีวิตลดลง มีความคิดแง่ลบต่อตนเอง ย่อมส่งผลด้านลบต่อสุขภาพกายไปด้วย
เพราะฉะนั้นการส่งเสริมสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ สามารถทำได้โดยเริ่มจากการเสริมสร้างความสุขให้กับตนเองก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งสามารถทำตามได้โดยวิธีดังต่อไปนี้
1. สร้างความรู้สึกดีต่อตนเอง ด้วยการตั้งมั่นทำความดี คิดดี พูดดี ทำดี จะส่งผลให้จิตแจ่มใสและมีความสุข
2. ตระหนักถึงคุณค่าของตนเองที่มีต่อบุตรหลานและคนอื่น ชื่นชมและภาคภูมิใจในตนเอง ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่ผูกมัดตัวเองด้วยกฏเกณฑ์ต่างๆ มากมาย ดำเนินชีวิตอยู่บนสายกลางใช้จ่ายหรือทำกิจกรรมต่างๆ ตามแต่สถานภาพของแต่ละบุคคล ไม่ทำให้ตนเองหรือผู้อื่นเดือดร้อน หาความสุขจากสิ่งใกล้ตน
3. ไม่ปล่อยให้ตนเองอยู่ว่าง หากิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ชอบทำ หรือสิ่งที่ตนเองสนใจอยากทำแต่ไม่มีโอกาสได้ทำ นอกจากนี้กิจกรรมที่ทำจะต้องเหมาะสมกับวัยและสภาพร่างกายของผู้สูงอายุด้วย เช่น ปลูกต้นไม้ ทำงานประดิษฐ์ เลี้ยงสัตว์ เล่นดนตรี หรืออ่านหนังสือ เป็นต้น
4. การทำกิจกรรมกลุ่มเพื่อสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น สร้างอารมณ์ขัน อารมณ์ขันจะทำให้ผู้สูงอายุเกิดความรู้สึกดี จิตใจเบิกบานและมีความสุข ช่วยทำให้อายุยืนยาว การสร้างอารมณ์ขันให้ตนเองสามารถทำได้โดยเริ่มจากการรู้จักควบคุมอารมณ์ตนเองทำให้ตนเองผ่อนคลาย
5. หาความสงบสุขทางใจ ด้วยการทำสมาธิ สวดมนต์ฟังธรรมะจะช่วยให้จิตใจสงบ เข้าใจธรรมชาติความเป็นจริงของชีวิต ไม่ฟุ้งซ่าน
สนใจติดต่อบริการ St.Carlos RECC
St.Carlos RECC โทร 0-2055-6363
Email : recc@stcarlos.com
Website : https://stcarlos-recc.com/
Fanpage : https://www.facebook.com/StCarlosRECC