ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุเป็นปรากฎการณ์ที่กำลังเพิ่มมากขึ้น ในสังคมไทยปัจจุบัน พบว่า 72.3% ของผู้สูงอายุ หรือ 3/4 ของผู้สูงอายุ มีภาวะซึมเศร้า และ 15.6% มีภาวะโรคซึมเศร้า แสดงให้เห็นว่าส่วนใหญ่ของผู้สูงอายุต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด

#ภาวะซึมเศร้า (Situational Depression) เป็นความผิดปกติที่เกิดจากภาวะจิตใจ หรือบ่อยครั้งเรียกว่า ภาวะการปรับตัวผิดปกติ (Adjustment Disorder) เนื่องจากบุคคลนั้นไม่สามารถรับมือได้ กับสถานการณ์บางอย่างที่มากระทบกระเทือนจิตใจ ซึ่งมีอาการแสดงออกดังนี้

– รู้สึกซึมเศร้า หรือหงุดหงิดกับชีวิตต่อเนื่อง

– รู้สึกไม่มีความสุข เมื่อทำในสิ่งที่ชอบ

– น้ำหนักเพิ่มขึ้น หรือลดลงผิดปกติ

– นอนไม่หลับ

สำหรับโรคซึมเศร้า (Clinical Depression) จะมีอาการคล้ายๆกับภาวะซึมเศร้า แต่จะรุนแรงกว่า จนทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ และที่พบรุนแรงขนาดมีอาการทางจิตร่วมด้วย เช่น หลงผิด และประสาทหลอน และอาจรุนแรงถึงขั้นฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะผู้หญิงอายุสูงกว่า 60ปีขึ้นไป พบว่ามีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จกว่าวัยอื่นๆ

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า

1. ทางร่างกาย อาจเกิดจากการลดลงของ Hormone บางชนิด เช่น Serotonin, Endorphin หรืออาการป่วยทางกายอื่นๆ ที่เกิดภาวะแทรกซ้อนของการป่วยเป็นโรคเรื้อรังนานๆ เช่น ภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน โรคหลอดเลือดของหัวใจ โรคมะเร็ง ทำให้เกิดการทุพพลาภาพพิการต่างๆได้

2. ทางจิตใจ สังคมและสิ่งแวดล้อม อาจะเกิดจากการจากไปของคู่ชีวิต การเกษียณอายุ การต้องอยู่คนเดียวบ่อยๆ ไม่มีเพื่อนคุย ไม่มีสังคม

ลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ

1. อารมณ์เปลี่ยนแปลงไป ที่พบบ่อยคือจะกลายเป็นคนเศร้าสร้อย หดหู่ สะเทือนใจง่าย ร้องไห้บ่อย อ่อนไหวต่อเรื่องเล็กๆน้อยๆ บางคนอาจไม่มีอารมณ์เศร้าชัดเจนแต่จะบอกว่าจิตใจหม่นหมอง ไม่แจ่มใส ไม่สดชื่นเหมือนเดิม บางคนอาจมีความรู้สึกเบื่อหน่าย สิ่งที่เดิมตนเคยทำแล้วเพลินใจหรือสบายใจ เช่น ฟังเพลง พบปะเพื่อนฝูง เข้าวัด ก็ไม่อยากทำหรือทำแล้วก็ไม่ทำให้สบายใจขึ้น

2. ความคิดเปลี่ยนไป มุมมองเป็นในทางลบ มองชีวิตที่ผ่านมาในอดีตก็เห็นแต่ความผิดพลาดความล้มเหลวของตนเอง รู้สึกท้อแท้หมดหวังกับชีวิต บางคนกลายเป็นคนไม่มั่นใจตนเองไป เกิดความลังเลในการตัดสินใจ รู้สึกว่าตนเองไร้ความสามารถ ไร้คุณค่า เป็นภาระแก่คนอื่น ยังคงคิดเช่นนั้นอยู่ ความรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ความคับข้องใจ ทรมานจิตใจ เหล่านี้อาจทำให้เจ้าตัวคิดถึงเรื่องการตายอยู่บ่อยๆ แรกๆ ก็อาจคิดเพียงแค่อยากไปให้พ้นๆ จากสภาพตอนนี้ ต่อมาเริ่มคิดอยากตายแต่ก็ไม่ได้คิดถึงแผนการณ์อะไรที่แน่นอน เมื่ออารมณ์เศร้าหรือความรู้สึกหมดหวังมีมากขึ้น ก็จะเริ่มคิดเป็นเรื่องเป็นราวว่าจะทำอย่างไร ในช่วงนี้หากมีเหตุการณ์มากระทบกระเทือนจิตใจก็อาจเกิดการทำร้ายตนเองขึ้นได้จากอารมณ์ชั่ววูบ

3. สมาธิความจำแย่ลง จะหลงลืมง่าย โดยเฉพาะกับเรื่องใหม่ๆ จิตใจเหม่อลอยบ่อย ทำอะไรไม่ได้นานเนื่องจากขาดสมาธิ มีปัญหาในการรับรู้ เช่น ดูโทรทัศน์นานๆ จะไม่รู้เรื่อง อ่านหนังสือจับใจความไม่ได้ ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง

4. มีอาการทางร่างกายต่างๆ ร่วม ที่พบบ่อยคือจะรู้สึกอ่อนเพลีย ซึ่งเมื่อพบร่วมกับอารมณ์รู้สึกเบื่อหน่ายไม่อยากทำอะไร ก็จะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานด้อยลง ปัญหาด้านการนอนเป็นอีกอาการที่พบบ่อยเช่นกัน มักจะหลับยาก นอนไม่เต็มอิ่ม หลับๆตื่นๆ บางคนตื่นแต่เช้ามืดแล้วนอนต่อไม่ได้ ส่วนใหญ่จะรู้สึกเบื่ออาหาร ไม่เจริญอาหารเหมือนเดิม น้ำหนักลดลงมาก บางคนลดลงหลายกิโลกรัมภายใน 1 เดือน นอกจากนี้ยังอาจมีอาการท้องผูก อืดแน่นท้อง ปากคอแห้ง

5. ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเปลี่ยนไป ดังกล่าวบ้างแล้วข้างต้น ผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะดูซึมลง ไม่ร่าเริง แจ่มใส เหมือนก่อน จะเก็บตัวมากขึ้น ไม่ค่อยพูดจากับใคร บางคนอาจกลายเป็นคนใจน้อย อ่อนไหวง่าย ซึ่งคนรอบข้างก็มักจะไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงเปลี่ยนไป บางคนอาจหงุดหงิดบ่อยกว่าเดิม ความสัมพันธ์กับคนรอบตัวไปในทิศทางลบ

6. ประสิทธิภาพการงานด้อยลง ความรับผิดชอบต่อการงานก็ลดลง คนที่ทำงานสำนักงานก็จะทำงานที่ละเอียดไม่ได้เพราะสมาธิไม่มี ในช่วงแรกๆ ผู้ที่เป็นอาจจะพอฝืนใจตัวเองให้ทำได้ แต่พอเป็นมากๆ ขึ้นก็จะหมดพลังที่จะต่อสู้ เริ่มลางานขาดงานบ่อยๆ ซึ่งหากไม่มีผู้เข้าใจหรือให้การช่วยเหลือก็มักจะถูกให้ออกจากงาน

7. อาการโรคจิต จะพบในรายที่เป็นรุนแรงซึ่งนอกจากผู้ที่เป็นจะมีอาการซึมเศร้ามากแล้ว จะยังพบว่ามีอาการของโรคจิตได้แก่ อาการหลงผิดหรือประสาทหลอนร่วมด้วย ที่พบบ่อยคือ จะเชื่อว่ามีคนคอยกลั่นแกล้ง หรือประสงค์ร้ายต่อตนเอง อาจมีหูแว่วเสียงคนมาพูดคุยด้วย อย่างไรก็ตามอาการเหล่านี้มักจะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อได้รับการรักษา อารมณ์เศร้าดีขึ้น อาการโรคจิตก็มักทุเลาตาม

หากสังเกตุพบผู้สูงอายุใกล้ตัว เริ่มมีอาการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ควรรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญและรับการดูแลโดยทีมสหวิชาชีพ เพื่อให้การดูแลทางด้านการแพทย์ กายภาพบำบัด จิตวิทยา พยาบาล และนักโภชนาการ เพื่อการดูแลเอาใจใส่และแก้ไขปัญหาได้อย่างทันเวลา

สนใจติดต่อบริการ St.Carlos RECC

St.Carlos RECC โทร 0-2055-6363

Email : recc@stcarlos.com

Website : https://stcarlos-recc.com/

Fanpage : https://www.facebook.com/StCarlosRECC

Leave a comment